ดูบทความ
ดูบทความวิธีการใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจน ความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
วิธีการใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจน ความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
วิธีการใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจน ความสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
เลือกเครื่องออกซิเจนที่ใช่และใช้ให้ถูกวิธี
เครื่องผลิตออกซิเจนเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ เช่น โรคปอดอักเสบ โรคมะเร็งปอด หรือโรคถุงลมโป่งพอง หรือผู้ที่ต้องการออกซิเจน เนื่องจากมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำ เครื่องผลิตออกซิเจนในทางการแพทย์ก็เปรียบเสมือนยารักษาโรค ดังนั้นในการใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจนจึงต้องทำตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้นหากละเลยอาจทำให้เป็นโทษกับร่างกายได้ ประโยชน์ของการใช้เครื่องผลิตออกซิเจนจะช่วยทำให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้นส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมีความกระปรี้กระเปร่า สุขภาพแข็งแรงมากขึ้น และด้วยในปัจจุบันเทคโนโลยีเครื่องผลิตออกซิเจนถูกพัฒนาจนมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ผู้ป่วยที่ต้องการบำบัดด้วยออกซิเจนไม่ว่าจะในบ้านหรือนอกบ้านได้เป็นอย่างดี
มารู้จักประเภทและวิธีการใช้ของเครื่องผลิตออกซิเจน
เครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้งานภายในบ้าน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ต้องพักรักษาตัว อยู่ที่บ้าน เป็นเครื่องผลิตออกซิเจนที่มีหลายขนาด ตั้งแต่ 3 ลิตร/นาที จนถึง 10 ลิตร/นาที ซึ่งความเหมาะสมของการใช้งานขึ้นอยู่กับลักษณะของการเจ็บป่วย และใช้งานตามคำสั่งของแพทย์ ซึ่งเครื่องผลิตออกซิเจนที่ใช้ภายในบ้านบางรุ่นจะมีฟังก์ชั่นในการพ่นยาได้ด้วย
ส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับใช้ในเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้าน
- สวิตซ์เปิด-ปิดเครื่องออกซิเจน
- ปุ่มปรับอัตราการไหลเวียนของออกซิเจน (ลิตร/นาที)
- ช่องต่อสายออกซิเจน (Oxygen outlet)
- ช่องต่อสายพ่นยา (Nebulizer Outlet) บางรุ่นไม่มีข่องพ่นละอองยา
- ช่องวางกระบอกน้ำให้ความชื้น
- กระบอกน้ำให้ความชื้น
- น้ำกลั่นทางการแพทย์ หรือ น้ำสะอาด
- สายซิลิโคน เป็นตัว Connect ที่ต่อระหว่างช่องออกซิเจนและกระบอกน้ำให้ความชื้น
- สาย Oxygen Cannula เป็นสายออกซิเจนที่ต่อให้คนไข้ โดยต่อระหว่างกระบอกน้ำให้ความชื้นกับคนไข้
ขั้นตอนการใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้งานภายในบ้าน
- เติมน้ำลงในกระบอกน้ำให้ความชื้นโดยให้ระดับน้ำอยู่กึ่งกลางระหว่างระดับน้ำสูงสุดและต่ำสุด หรือ 2 ใน 4 ของกระบอก ปิดฝาให้สนิท และวางลงบนช่องวางกระบอกน้ำให้ความชื้น
- นำสาย Connect ไปต่อเข้ากับกระบอกน้ำให้ความชื้นกับจุดต่อสายออกซิเจน
- ต่อสาย Oxygen Cannula เข้ากับกระบอกน้ำให้ความชื้น
- เปิดสวิตซ์เพื่อเปิดใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจน โดยสวิตซ์เมื่อใช้งานปุ่มจะอยู่ที่สัญลักษณ์ I และเมื่อหยุดใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจนสวิตซ์ปุ่มจะอยู่ที่สัญลักษณ์ O
- ปรับอัตราการไหลเวียนของออกซิเจนตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น โดยสังเกตุที่ลูกลอย
- เช็คการทำงานของสาย Oxygen Cannula โดยให้นำปลายสายของ Oxygen Cannula มาจ่อที่ผิวหนัง หรือ ผิวน้ำ หากมีลมเย็นๆ หรือผิวน้ำมีการสั่นแสดงว่ามีออกซิเจนไหลมาตามสาย Oxygen Cannula สามารถนำไปใช้กับผู้ป่วยได้
- หลังการใช้งานควรเก็บสาย Oxygen Cannula และนำกระบอกน้ำให้ความชื้นไปล้างทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดหลังการใช้งานทุกครั้ง
อุปกรณ์สำหรับใช้ในการพ่นยาในเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้าน ชุดหน้ากากพ่นละอองยา (Nebulizer Mask) ประกอบด้วย กระปุกสำหรับใส่ยา, หน้ากาก, สาย Connect
ขั้นตอนการใช้งานในฟังก์ชั่นการพ่นยา
- เติมยาลงในกระปุกกพ่นยา ปิดฝากระปุกให้สนิท
- ต่อหน้ากากเข้ากับกระปุกพ่นยา
- ต่อสาย Connect เข้ากับกระปุกพ่นยา
- เปิดสวิตซ์เพื่อเปิดใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจน
- ในเครื่องที่มีฟังก์ชั้นพ่นยาด้วยออกซิเจน ให้เลือกฟังกชั้นการพ่นยา และต่อสาย Connect เข้าช่องจ่ายออกซิเจน (Oxygen outlet) สำหรับเครื่องผลิตออกซิเจนที่ไม่มีฟังก์ชั่นพ่นยาด้วยออกซิเจน ให้เลือกการใช้งานให้ต่อสาย Connect เข้ากับช่องพ่นยา (Nebulizer outlet) ซึ่งเป็นคนละจุดกับจุดต่อสายออกซิเจน
- เมื่อเห็นควันบางๆลอยออกมาจากหน้ากากก็สามารถนำมาครอบที่ผู้ป่วยได้ เมื่อใช้งานเสร็จก็ปลดสาย Connect และหน้ากากออกและนำไปทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาด
ข้อควรระวังและการดูแลรักษาของเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ในบ้าน
- ควรวางเครื่องผลิตออกซิเจนให้ห่างจากผนังประมาณ 1 ฟุต เพราะเมื่อเครื่องทำงานเครื่องจะมีความร้อน
- ควรวางเครื่องผลิตออกซิเจนให้ใกล้กับผู้ป่วยเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
- ควรวางเครื่องผลิตออกซิเจนให้ห่างจากแหล่งที่จะทำให้เกิดประกายไฟเพื่อป้องกันการเกิดไฟไหม้ เช่น คนสูบบุหรี่ น้ำมัน หรือความร้อน
- ก่อนการใช้งานทุกครั้งควรตรวจสอบเครื่องผลิตออกซิเจนและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน
- การเปิดปิดเครื่องแต่ละครั้งควรเว้นระยะเวลาให้เครื่องเซ็ตอัพอย่างน้อย 5 นาที
- ก่อนใช้ฟังก์ชั่นพ่นยาต้องปรับระดับอัตราการไหลของออกซิเจนเป็น 0 ลิตรต่อนาที ก่อนทุกครั้ง
- ควรเปลี่ยนน้ำในกระบอกน้ำให้ความชื้นทุกวันเพื่อความสะอาดและปลอดภัยในการใช้งาน
- ควรล้างสาย Oxygen Cannula ที่ปลายสายทุกวัน หากพบว่ามีการเสื่อมสภาพให้เปลี่ยนทันที
- ไม่ควรเติมน้ำให้เต็มกระบอกน้ำให้ความชื้นเพราะน้ำอาจล้นออกมาได้จากการทำงานของเครื่องผลิตออกซิเจน
- ไม่ควรต่อสาย Oxygen Cannula กับผู้ป่วยทันทีควรทดสอบแรงดันอากาศว่ามีปริมาณที่เหมาะสมกับผู้ป่วยไหม? หากมีแรงดันอากาศอัดเข้าไปในจมูกของคนไข้มากเกินไป อาจทำให้ผู้ป่วยเป็นโพรงจมูกอักเสบได้
- ไม่ควรตั้งเครื่องผลิตออกซิเจนในที่สูง
- ระหว่างการขนย้ายเครื่องผลิตออกซิเจนหากมีพื้นต่างระดับให้ยกเครื่องผลิตออกซิเจนขึ้นเพื่อป้องกันการกระแทก
- ควรทำความสะอาดภายนอกเครื่องโดยใช้ผ้าชุบนํ้าหมาดๆ เช็ดให้ทั่วและใช้นํ้ายาฆ่าเชื้อเช็ดอีกครั้งอย่างสมํ่าเสมอ
- ควรทำความสะอาดไส้กรองอากาศโดยไส้กรองที่ใช้ในเครื่องผลิตออกซิเจนมีอยู่ 2 ชนิดคือ 1. ไส้กรองหยาบควรถอดนำมาทำความสะอาดทุกสัปดาห์ 2.ไส้กรองละเอียดให้เปลี่ยนทุก 6 เดือน แต่ถ้าหากพบว่าไส้กรองมีการเสื่อมสภาพ เช่นมีสีดำ หรือฉีกขาดก็ให้เปลี่ยนได้ทันที
- เครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้านควรใช้กับไฟฟ้าบ้านเท่านั้น และเครื่องจะไม่สามารถทำงานได้ ในกรณีไฟฟ้าดับหรือไม่มีไฟฟ้า
- หลังการใช้งานควรถอดปลั๊กออกทุกครั้ง
2. เครื่องผลิตออกซิเจนแบบพกพา จะมีข้อจำกัดมากกว่าเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้านด้วยขนาดที่ออกแบบมาให้เล็กเพื่อความสะดวกสบายในการขนย้าย และยังมีราคาที่สูงกว่าเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้านซึ่งเครื่องผลิตออกซิเจนแบบพกพามีด้วยกัน 2 ประเภท
2.1 เครื่องผลิตออกซิเจนแบบ Continuous Flow Portable Oxygen Concentrators
เป็นเครื่องผลิตออกซิเจนแบบจ่ายลมต่อเนื่อง ซึ่งมีลักษณะวิธีการใช้งานเหมือนเครื่องออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้าน แต่มีขนาดให้เลือกใช้น้อยกว่าโดยขนาดที่มีให้เลือกใช้งานประมาณ 3 ลิตร/นาที จนถึง 5 ลิตร/นาที และมีน้ำหนักที่เบาและพกพาได้ง่ายกว่าเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้าน น้ำหนักตัวเครื่องประมาณ 5-8 กิโลกรัม และด้วยวิธีการใช้งานที่เหมือนกัน ดังนั้นส่วนประกอบและอุปกรณ์ในการใช้งาน ข้อควรระวัง และการดูแลรักษาจึงเหมือนเครื่องผลิตออกซิเจนแบบใช้ภายในบ้านเช่นกัน แต่แตกต่างกันที่ไฟฟ้าที่ใช้งาน เครื่องผลิตออกซิเจนแบบ Continuous Flow สามารถใช้ไฟฟ้าได้ทั้งในบ้าน ในรถ และแบตเตอร์รี่
2.2 เครื่องผลิตออกซิเจนแบบ Pulse Dose Portable Concentrators
เป็นเครื่องผลิตออกซิเจนที่ปล่อยออกซิเจนตามการหายใจของผู้ใช้งาน โดยสามารถผลิตออกซิเจนอยู่ที่ 450 มิลลิลิตร/นาที จนถึง 1,250 มิลลิลิตร/นาที ซึ่งสามารถปรับแรงดันลมของออกซิเจนได้ 5 ระดับในบางรุ่นมีระบบ Smart Dose สามารถปรับแรงดันลมของออกซิเจนได้โดยประเมินจากการหายใจของผู้ใช้งานโดยอัตโนมัติ เครื่องผลิตออกซิเจนแบบ Pulse Dose Portable Concentrators มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักที่เบา เพียง 1-2 กิโลกรัม จึงพกพาเพื่อทำกิจวัตรประจำวันได้เช่น เดิน วิ่ง จึงเหมาะกับผู้ป่วยที่ยังสามารถเดินเอง และยังสามารถใช้งานโดยใช้ไฟฟ้าในบ้าน ไฟฟ้าในรถ และแบตเตอร์รี่ได้อีกด้วย
ส่วนประกอบและอุปกรณ์สำหรับใช้ในเครื่องผลิตออกซิเจนแบบพกพา
- ปุ่มเปิด-ปิดการทำงานของเครื่องผลิตออกซิเจน
- จอแสดงผลแบบ LCD แสดงผล ค่า Pulse Setting, สถานะแบตเตอรี่, Alarm แจ้งเตือน, % ออกซิเจน
- สาย Oxygen Cannula
ขั้นตอนการใช้งานเครื่องผลิตออกซิเจนแบบพกพา
1. กดปุ่มเปิดเครื่องผลิตออกซิเจน
2. จะมีสัญญาณไฟขึ้นเป็นรูปลูกศรลงแสดงว่าออกซิเจนในเครื่องยังไม่ได้มาตรฐานให้รอจนกว่าจะมีรูปเครื่องหมายถูกต้องแสดงขึ้นมา
3. หากต้องการปรับแรงดันลมของออกซิเจนสามารถปรับได้ที่เครื่องหมายบวก และเครื่องหมายลบซึ่งมีให้เลือก 5 ระดับ
4. หากต้องการเปลี่ยนโหมดเป็นแบบ Smart Dose ให้กดปุ่มเครื่องหมายบวกและลบพร้อมกัน
5. ให้ต่อสาย Oxygen Cannula เข้ากับจุด Oxygen Outlet แล้วนำสาย Oxygen Cannula ไปต่อเข้ากับจมูกของผู้ป่วย
6. เมื่อใช้งานเสร็จแล้วให้นำสาย Oxygen Cannula ไปเช็ดทำความสะอาดบริเวณสายที่เสียบจมูกทุกครั้งหลังการใช้งาน
แม้เครื่องผลิตออกซิเจนจะมีจุดประสงค์เดียวกันคือการช่วยให้ผู้ป่วยมีระบบการหายใจที่ดีขึ้นแต่ด้วยความแตกต่างในหลักการทำงานทำให้มีวิธีใช้ที่แตกต่างกันรวมไปถึงการรักษาอุปกรณ์และข้อควรระวังต่างๆ ดังนั้นการศึกษาวิธีการใช้งานจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
Customer services : 096-924-6604
Facebook : @AdlerMedicalSupply
Line@ : https://page.line.me/adlermed
Website : https://www.adlerthailand.com
29 สิงหาคม 2565
ผู้ชม 20675 ครั้ง