ดูบทความ
ดูบทความความดันโลหิตคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
ความดันโลหิตคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
ความดันโลหิตคืออะไร และมีความสำคัญอย่างไร
ความดันโลหิต หรือ Blood Pressure คือความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง นั่นหมายถึง แรงดันเลือดที่ไปกระทบผนังภายในหลอดเลือดแดงขณะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย ซึ่งค่าความดันนี้สามารถวัดได้โดยเครื่องมือทางการแพทย์ (Blood Pressure Monitor) ที่นอกจากจะบอกถึงความแรงของการสูบฉีดเลือดแล้ว ยังอนุมานได้ถึงสุขภาพของผนังหลอดเลือดว่ายังดีอยู่หรือไม่ เพราะหากผนังหลอดเลือดมีความผิดปกติ แข็ง ขาดความยืดหยุน มีตะกรันเกาะ หรือเริ่มตีบ ก็จะถูกฟ้องด้วยค่าความดันโลหิตที่สูงขึ้นนั่นเอง
เพราะความดันโลหิตสูงจะส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม และยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด รวมทั้งโรคไต และโรคแทรกซ้อนต่างๆ
และหากมีการตีบ แตก หรือตันของหลอดเลือดสมองอย่างเฉียบพลัน อาจจะทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น ความดันโลหิตจึงมีความสำคัญ ที่ต้องใส่ใจดูแล และควรได้รับการตรวจอย่างละเอียด โดยเฉพาะกับผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูง
ค่าความดันโลหิตที่เหมาะสม ควรอยู่ที่เท่าไหร่
- ค่าความดันโลหิตตัวบน คือค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัว (Systolic Pressure) ส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย ซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 120 มม.ปรอท
- ค่าความดันโลหิตตัวล่าง คือค่าความดันขณะที่หัวใจคลายตัว (Diastolic Pressure) ซึ่งค่ามาตรฐานจะอยู่ที่ 80 มม.ปรอท
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความดันโลหิต
- ปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ หากพ่อหรือแม่เป็นความดันโลหิตสูง มักมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงได้มากกว่า
- ปัจจัยทางพฤติกรรมและสภาพร่างกาย เช่น พฤติกรรมการกินอาหาร ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ความเครียด พักผ่อนน้อย ไม่ออกกำลังกาย มีน้ำหนักตัวเกิน มีโรคประจำตัว อายุ เป็นต้น
ข้อแนะนำก่อนวัดความดันโลหิต
- ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน หรือแอลกอฮอล์ ไม่ผ่านการออกกำลังกาย และไม่มีภาวะทางอารมณ์ เช่น โมโห โกรธ หรือ เครียด
- นั่งพักก่อนทำการตรวจวัดความดันเป็นเวลา 5-15 นาที
- ควรปัสสาวะก่อนทำการวัดความดัน
- ไม่ควรพูดคุยมากเกินไปในขณะที่ทำการวัดความดัน
ความดันโลหิตต่ำ
เป็นภาวะที่ความดันเลือด systolic ต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท พบได้ทั้งหญิงชาย ไม่ว่าอายุเท่าใดก็สามารถเป็นได้ ส่วนมากเกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด เช่น โปรตีน วิตามินซี หรือ เลือดผิดปกติ เช่นภาวะโลหิตจาง โดยภาวะเหล่านี้จะมีทั้งที่สามารถหายเองได้ หรือพบแพทย์เพื่อรักษา
อาการของความดันโลหิตต่ำ
ปกติแล้วความดันโลหิตต่ำจะไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากอยู่ในภาวะที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นชั่วคราว ดังนี้
- เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลมกะทันหัน
- ใจเต้นแรง ใจสั่น
- ตาพร่าเบลอ
- คลื่นไส้
- เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย
- กระหายน้ำ
ข้อควรทำเมื่อความดันโลหิตต่ำ
- หากมีอาการควรนั่งพัก หรือนอนลงทันทีโดยพยายามยกเท้าให้สูงกว่าระดับหัวใจเพื่อให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมอง
- หลีกเลี่ยงการยืน หรือนั่งนาน ๆ
- หลีกเลี่ยงดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในเวลากลางคืน และลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายเพื่อกระตุ้นอัตราการเต้นของหัวใจให้เพิ่มมากขึ้น
- พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการนอนดึก
ความดันโลหิตสูง
หากวัดความดันโลหิตแล้วได้ค่าตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งต้องคัดกรองทันทีอีก 1-2 ครั้ง เพื่อยืนยัน ปัจจัยที่ส่งผลให้ความดันโลหิตสูง ได้แก่ อารมณ์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ หรือมีคาเฟอีน เป็นต้น อาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงคือ
- อาการเวียนศีรษะ
- ตึงต้นคอ
- ใจสั่น
- อ่อนเพลีย
- ตาพร่ามัว
- อาจมีเลือดกำเดาไหลร่วมด้วย
สาเหตุของการเกิดความดันโลหิตสูง
ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงตรวจไม่พบสาเหตุ อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาจมีโรคบางอย่างซ่อนอยู่ เช่น โรคไต เนื้องอกบริเวณต่อมใต้สมองและต่อมหมวกไต หรือเกิดจากพฤติกรรมหรือสาเหตุเสี่ยง ได้แก่
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นประจำ
- ไม่ออกกำลังกาย
- มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
เป็นความดันโลหิตสูงแล้วต้องทำอย่างไร
- บริโภคอาหารที่มีประโยชน์และมีผลดีต่อความดันโลหิต ได้แก่ การทานผัก ผลไม้ ธัญพืช และลดเนื้อสัตว์ น้ำตาล ของหวาน และอาหารที่มีรสเค็ม
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และงดการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ดูแลตัวเองไม่ให้เครียดมากจนเกินไป
ดังนั้น ไม่ว่าจะมีภาวะความดันสูง หรือความดันต่ำ หากมีอาการต่อเนื่องเป็นประจำ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัย และทำการรักษา
อ้างอิง : www.princsuvarnabhumi.com / www.phyathai.com
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
Customer services : 096-924-6604
Facebook : @AdlerMedicalSupply
Line@ : https://page.line.me/adlermed
Website : https://www.adlerthailand.com
30 มกราคม 2567
ผู้ชม 536 ครั้ง